How to สอนยังไงให้เด็กไม่หลับ เทคนิคที่ผู้สอนต้องรู้

อีกหนึ่งปัญหาที่คุณครูต้องเจออยู่บ่อยครั้งก็คือเด็กไม่สนใจที่ครูสอน ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือหลับใส่จนรู้สึกเสีย Self ไม่ก็อารมณ์เสียไปเลย อีกทั้งการสอนก็ยังไม่สัมฤทธิ์ผลอีกต่างหาก บางครั้งอาจเป็นที่คุณครูสอนไม่ดีพอ ทำให้เด็กๆ เบื่อ แต่บางครั้งก็อาจเป็นที่ตัวเด็กเองก็ได้ เอาเป็นว่าให้ลองสังเกตดูว่าเด็กที่หลับมีปัญหาอยู่คนเดียวหรือไม่ หากไม่ใช่ก็ขอแนะนำวิธีการเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้การสอนมีประสิทธิภาพกว่าที่เคย ดึงความสนใจจากเด็กๆ ได้มากขึ้น

1.สอนแบบเล่าเรื่อง

การบรรยายตามทฤษฎีเพียงอย่างเดียว อาจทำให้ผู้เรียนรู้สึกเบื่อหน่ายได้ จึงควรนำวิธีการแบบเล่าเรื่องมาปรับใช้ในการสอน ประกอบกับการบรรยายทฤษฎี เพราะโดยพื้นฐานแล้วคนแทบทุกคนชอบฟังการบรรยายที่เป็น “เรื่องราว” ยกตัวอย่างการฟังนิทาน การดูละคร หรือแม้แต่การเปิดรับโฆษณาที่เป็นเรื่องราวได้มากกว่าการเปิดรับโฆษณาที่โน้มน้าวใจเพียงอย่างเดียว 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการสอนแบบเล่าเรื่องก็อาจประยุกต์ใช้ได้เพียงบางวิชาเท่านั้น เช่น สังคมศึกษา อย่างการสอนประวัติศาสตร์ สามารถเล่าเรื่องราวได้ นอกเหนือจากการบรรยายเพียงอย่างเดียว วิชาวิทยาศาสตร์ก็สามารถใช้การเล่าเรื่องประยุกต์ใช้กับการสอนบางอย่างได้ เช่น การเล่าเรื่องราวที่มาของแรงโน้มถ่วงโลก เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจมากขึ้นกว่าเดิม และไม่รู้สึกเบื่อ

2.ยกเคสตัวอย่าง

บางครั้งการบรรยายไปตามทฤษฎีที่มีความตายตัว ก็เป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับผู้ฟัง จึงควรหาเคสตัวอย่างมาประกอบการสอน การหยิบยกเคสตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง มีความคล้ายกับการเล่าเรื่อง เป็นการบอกเล่าถึงการเกิดขึ้นของเหตุการณ์นั้น แต่ต้องเป็นเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกับเนื้อหาวิชาการด้วย การหยิบตัวอย่างนั้นมาเล่าพร้อมกับวิเคราะห์ในแง่มุมของผู้สอน จะทำให้ผู้เรียนคิดตามและไม่เบื่อ ไม่รู้สึกง่วง เพราะได้ใช้ความคิดไปด้วย นอกเหนือจากการนั่งฟังเพียงอย่างเดียว

3.ให้เด็กเล่นเกม

การจัดทำเกมขึ้นมาสอดแทรกระหว่างการสอน ก็ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนตื่นตัวได้ แต่มีข้อจำกัดคือเกมที่คิดขึ้นจะต้องเชื่อมโยงการเนื้อหาในวิชานั้นๆ ผู้เรียนที่เล่นเกมในครั้งนั้นจะต้องได้ความรู้กลับไป และได้ใช้ความคิด เนื้อหานั้นจะต้องถูกจัดเก็บในความทรงจำจากการเล่นเกม จึงจะเป็นการประยุกต์ใช้ที่มีประสิทธิภาพ เกมที่ง่ายที่สุดก็คือเกมตอบคำถาม ล่าคะแนนเก็บในห้องเรียน หรือจะคิดค้นเกมในรูปแบบอื่นก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในด้านความคิดสร้างสรรค์ของผู้สอนด้วย

4.อย่าอ่านตามหนังสือ

การอ่านตามหนังสือเหมือนเป็นสิ่งต้องห้าม หากไม่ต้องการให้ผู้เรียนรู้สึกเบื่อหน่าย เพราะผู้เรียนจะรู้สึกเหมือนนั่งฟังคนอ่านหนังสือให้ฟัง ไม่ใช่นั่งฟังคนสอน ผู้เรียนจะรู้สึกว่าสามารถอ่านเองได้ และคิดว่าการสอนในครั้งนั้นไม่มีประโยชน์ จากนั้นผู้เรียนจะเมินความสนใจไปในที่สุด ทั้งยังรู้สึกเบื่อหน่ายและง่วงได้ด้วย ผู้สอนควรใช้วิธีอธิบายขยายความจากเนื้อหาที่มีในหนังสือนั้น จะเหมาะสมมากกว่าการอ่านตามหนังสือ

5.ปล่อยให้ทำแบบฝึกหัดในห้องเรียน

การให้โจทย์ระหว่างการสอนในห้องเรียน ช่วยกระตุ้นผู้เรียนได้ แต่ต้องบรรยายเนื้อหาให้ผู้เรียนเข้าใจที่มาและที่ไปของเนื้อหานั้นก่อน เมื่อเข้าใจในระดับหนึ่งแล้วก็ลองให้โจทย์และปล่อยให้ทำ ให้ผู้เรียนได้ลองผิดลองถูกตามความเข้าใจ จากนั้นก็มาเฉลยในห้องเรียนแบบละเอียด ขั้นแรกการปล่อยให้ผู้เรียนทำโจทย์ จะเป็นการกระตุ้นความคิด ทำให้ผู้เรียนไม่ง่วง และการเฉลยละเอียด ก็ช่วยกระตุ้นความคิดอีกรอบ เพราะเมื่อทำโจทย์เสร็จแล้ว ผู้เรียนย่อมอยากรู้ว่าตนเองทำถูกหรือไม่ ก็จะรอฟังเฉลยและคิดตามไปด้วย เพื่อทำความเข้าใจ 

6.เลือกใช้น้ำเสียงที่ไม่ชวนง่วง

การใช้น้ำเสียงก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ไม่ควรเลือกใช้น้ำเสียงที่ชวนให้ง่วง โดยน้ำเสียงที่ทำให้รู้สึกง่วง ได้แก่ การใช้น้ำเสียงราบเรียบเท่ากันตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่มีเสียงสูงต่ำสลับ จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกเคลิ้มได้ หรือการพูดไปแบบเรื่อยๆ ไม่กระชับ หาจุดจบในประเด็นนั้นๆ ไม่เจอ ก็อาจทำให้ง่วงได้เช่นกัน ดังนั้นหากต้องบรรยาย ควรจับประเด็นเป็นเรื่องๆ มีบทนำและบทสรุปชัดเจน บวกกับใช้น้ำเสียงสูงต่ำสลับกันให้เข้ากับเนื้อหา จะช่วยให้ผู้เรียนไม่รู้สึกง่วงได้ในระดับหนึ่ง

7.ตั้งคำถามชวนคิด

ผู้สอนบางท่านเลือกใช้วิธีตั้งคำถามชวนคิดตั้งแต่เริ่มต้นชั่วโมงสอน ก่อนที่จะทำการสอนหรือเข้าสู่เนื้อหาเป็นเรื่องราว การตั้งคำถามเพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการตอบ จะช่วยกระตุ้นความคิดของผู้เรียนได้ ทั้งยังก่อให้เกิดข้อสงสัยตามมา ผู้เรียนจะร่วมกันแชร์คำตอบหลากหลายออกมา ทั้งยังรู้สึกสงสัยในคำตอบเหล่านั้น เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้อง แล้วผู้สอนก็ค่อยๆ เฉลยในเนื้อหาการสอนไป จะทำให้ผู้เรียนมีความอยากรู้ในคำตอบและตั้งใจฟัง พร้อมทั้งคิดตามไปด้วยเพื่อทำความเข้าใจ ทำให้ไม่รู้สึกง่วง

8.เบรคบ้าง

การบรรยายต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ทำให้ผู้ฟังรู้สึกเบื่อและอ่อนล้าได้ กลายเป็นความง่วงในที่สุด ดังนั้นระหว่างการสอนควรมีพักเบรค เพื่อให้ผู้เรียนได้ยืดเส้นยืดสาย รวมถึงได้มีโอกาสล้างหน้าล้างตา ช่วยให้รู้สึกตื่นตัวมากกว่าจะนั่งฟังบรรยายต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจให้เวลาพักเบรคสัก 10-15 นาที เพื่อให้ผู้เรียนได้ผ่อนคลาย หรือผู้เรียนที่ง่วงอาจงีบหลับในช่วงเวลานี้ได้ ก็จะช่วยให้ตื่นตัวเมื่อกลับมาเรียนอีกครั้งหลังเบรค

แน่นอนว่าการเป็นครูโรงเรียนนานาชาติหรือครูโรงเรียนไทย ต่างก็ต้องเจอกับความท้าทายคล้ายๆ กัน ดังนั้น ทั้งหมดนี้ก็เป็นหลักการเล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้สอนสามารถนำไปใช้ได้ในระหว่างการสอน เพื่อไม่ให้เด็กๆ รู้สึกเบื่อหน่ายกับการเรียน ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับผู้สอนมากขึ้น การสอนก็มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย แต่สำหรับเด็กที่มีปัญหาอยู่คนเดียว และหลับในเวลาเรียนซ้ำๆ ครูผู้สอนก็ไม่จำเป็นต้องปรับตามแต่อย่างใด